เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
อยู่ลำบาก ทำวิเวก1ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะ
ชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ2ให้หวาดหวั่น อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่’ ผู้นั้นพึงหวัง
ข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลง3หรือจักฟุ้งซ่าน4’
เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่ ถ้ามีช้างใหญ่สูง 7 ศอก หรือ 7 ศอกครึ่งมาถึงเข้า
ช้างนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลัง
เล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้ว
พึงล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างนั้นมีร่างกายใหญ่ จึงต้องลงน้ำลึก
ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึงห้วงน้ำนั้นเข้า กระต่ายหรือเสือปลานั้นพึงคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นอะไรและช้างใหญ่เป็นอะไร ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้ว
ล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ กระต่าย
หรือเสือปลานั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยฉับพลัน ไม่ทันได้พิจารณา จำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า
‘จักจมลงหรือจักลอยขึ้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระต่ายหรือเสือปลานั้น มีร่าง
กายเล็ก ลงในห้วงน้ำลึกไม่ได้ ฉันใด
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน’ ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนยังนอนหงาย เล่นมูตรและคูถของตน เธอเข้าใจเรื่องนั้น
อย่างไร การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อนโดยทั่วไปหรือ”
พระอุบาลีกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
2 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
3 จมลง หมายถึงจมลงเพราะกามวิตก (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
4 ฟุ้งซ่าน หมายถึงฟุ้งซ่านเพราะพยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้น มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้น เล่น
เครื่องเล่นสำหรับเด็ก คือเล่นไถน้อย ๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้
เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้
ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้นอีก มีอินทรีย์แก่กล้าเต็มที่
อิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 บำเรอตนอยู่ด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ ชวนใจให้กำหนัด ด้วยเสียงที่พึงรู้
แจ้งทางหู ... ด้วยกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... ด้วยรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ด้วย
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
ชวนใจให้กำหนัด เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่
มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอด
เยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า1 เป็นพระผู้มี
พระภาค2 ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น3 มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศ พรหมจรรย์4พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์5ครบถ้วน”

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 11 (เสนาสนสูตร) หน้า 17 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 11 (เสนาสนสูตร) หน้า 17 ในเล่มนี้
3 มีความงามในเบื้องต้น หมายถึงศีล มีความงามในท่ามกลาง หมายถึงอริยมรรค มีความงามในที่สุด
หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. 190/159)
4 พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย 10 ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ (การ
ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต) เมถุน-
วิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร
อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมายถึงศาสนา
(ที.สี.อ. 190/160-162)
5 บริสุทธิ์ หมายถึงไม่มีสิ่งเป็นโทษที่จะต้องนำออก บริบูรณ์ หมายถึงเต็มที่แล้ว โดยไม่ต้องนำไปเพิ่มอีก
(ตามนัย วิ.อ. 1/1/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :234 }